ไคร้หางนาค ๓

Sauropus heteroblastus Airy Shaw

ไม้พุ่ม พาดเลื้อย เป็นพืชทนนํ้าไหล ใบเดี่ยวเรียงสลับระนาบเดียว รูปไข่กลับ ดอกแยกเพศร่วมต้นออกเดี่ยวหรือเป็นกระจุกตามซอกใบ สีแกมแดงหรือสีแดงเลือดนก ไม่มีกลีบดอกแคะจานฐานดอก ผลแบบผลแห้งแตก รูปกลมแป้น

ไคร้หางนาคชนิดนี้เป็นไม้พุ่ม พาดเลื้อย เป็นพืชทนน้ำไหล สูงได้ถึง ๒ ม. เกลี้ยง ตามลำต้นมีสีเขียวแกมแดง มีสันนูน ๒ สัน แตกกิ่งสั้น ๆ หลายกิ่ง ยาวไม่เกิน ๔ มม. แต่ละกิ่งมักมีใบ ๒ ใบ และมีดอก ๒-๓ ดอก

 ใบเดี่ยว เรียงสลับระนาบเดียว รูปไข่กลับ กว้าง ๐.๔-๒ ซม. ยาว ๐.๕-๓ ซม. ปลายกลมหรือเว้าตื้นมีติ่งหนามสั้น โคนรูปลิ่มถึงสอบเรียว ขอบเรียบ แผ่นใบค่อนข้างบางคล้ายกระดาษ มีสีเขียวแกมแดง เส้นแขนงใบข้างละ ๕-๖ เส้น เห็นไม่ชัด ก้านใบยาวประมาณ ๑ มม. หูใบรูปสามเหลี่ยม กว้างและยาวประมาณ ๑ มม. ร่วงช้า

 ดอกแยกเพศร่วมต้น ออกเดี่ยวหรือเป็นกระจุกตามซอกใบ สีแกมแดงหรือสีแดงเลือดนก ดอกเล็กห้อยลง ไม่มีกลีบดอกและจานฐานดอก กลีบเลี้ยงโคนเชื่อมติดกัน ปลายแยกเป็น ๖ แฉก เรียงซ้อนเหลื่อมกันดอกเพศผู้มีเส้นผ่านศูนย์กลาง ๒.๕-๓ มม. ก้านดอกยาว ๕-๕.๕ มม. มีใบประดับ กลีบเลี้ยงแบน แฉกรูปไข่กว้างและยาวประมาณ ๑ มม. ปลายแฉกหยักมนเล็กน้อยใกล้โคนมีเกล็ด เกสรเพศผู้ ๓ เกสร ก้านชูอับเรณู เชื่อมติดกัน ยาวประมาณ ๐.๓ มม. อับเรณูยาวประมาณ ๐.๓ มม. ดอกเพศเมียมีเส้นผ่านศูนย์กลาง ๓-๕.๕ มม. ก้านดอกยาวประมาณ ๑.๕ มม. แฉกกลีบ เลี้ยงรูปไข่ กว้างและยาว ๑.๕-๒.๕ มม. ปลายมนและเป็นติ่งทู่ กลีบเลี้ยงติดทน รังไข่อยู่เหนือวงกลีบ รูปค่อนข้างกลม กว้างประมาณ ๑.๕ มม. ยาวประมาณ ๑ มม. มี ๓ ช่อง แต่ละช่องมีออวุล ๒ เม็ด ไม่มีก้านยอดเกสรเพศเมีย ยอดเกสรเพศเมียมี ๓ แฉก ปลายม้วน ยาว ๐.๕-๑ มม.

 ผลแบบผลแห้งแตก รูปกลมแป้น กว้างประมาณ ๙ มม. ยาว ๔-๕ มม.

 ไคร้หางนาคชนิดนี้มีเขตการกระจายพันธุ์ในประเทศไทยทางภาคตะวันออกเฉียงเหนือ พบขึ้นเป็นกลุ่มเล็ก ๆ ตามชายนํ้า ที่สูงจากระดับนํ้าทะเล ๑๐๐-๒๐๐ ม. ในต่างประเทศพบที่เวียดนามและกัมพูชา.

ชื่อหลักหรือชื่อทางการ
ไคร้หางนาค ๓
ชื่อวิทยาศาสตร์
Sauropus heteroblastus Airy Shaw
ชื่อสกุล
Sauropus
คำระบุชนิด
heteroblastus
ชื่อผู้ตั้งพรรณพืช
- Airy Shaw, Herbert Kenneth
ช่วงเวลาเกี่ยวกับผู้ตั้งพรรณพืช
- (1902-1985)
ผู้เขียนคำอธิบาย
ดร.ก่องกานดา ชยามฤต